หลายคนคงเคยได้ยินว่า เป็นเบาหวานแล้วแผลหายช้า แล้วมันจะเกี่ยวกับการถูกตัดเท้า หรือ ถูกตัดขาอย่างไรกันเนี่ย… โรคเบาหวาน ทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแคบลง และถ้าหากมีไขมันมาเกาะที่หลอดเลือดด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ จนในที่สุดก็จะเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และเบาหวานยังทำให้เกิดความผิดปกติของปลายประสาท (ปลายประสาทอักเสบ) อาจจะทำให้การรับรู้น้อยลง ผิวหนังบริเวณส่วนขาแห้งคัน เกิดการเกา บางทีเกิดแผลโดยที่ไม่รู้ตัว มีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย หรือเมื่อความรู้สึกที่เท้าลดลง ขณะเดินก็จะเกิดแผลได้ง่าย จะรู้ตัวอีกทีแผลก็ติดเชื้อลุกลามไปมาก ดังนั้น เมื่อเกิดบาดแผลและหายช้า ก็ทำให้เนื้อตายจนต้องตัดอวัยวะทิ้ง และเมื่อมีการติดเชื้อก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิต
นอกจากเบาหวานจะทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบแล้ว หากเกิดแผลกดทับที่เท้าเป็นเวลานาน จะทำให้โครงสร้างของเท้าผิดปกติ เท้าผิดรูปและการเกิดปุ่มกระดูกงอกได้อีกด้วย
“โรคเบาหวานอาจทำให้เท้าเย็น เป็นตะคริว ทำให้ความรู้สึกสัมผัสบริเวณเท้าลดลงหรือเกิดอาการปวดขณะเดินมากๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ ผู้เป็นเบาหวานห้ามแช่เท้าในน้ำร้อนเด็ดขาดและไม่ควรนั่งไขว่ห้าง”
สาเหตุของการเกิดแผลที่เท้า
เส้นประสาทเสื่อม และถูกทำลาย
เมื่อเส้นประสาทเสื่อม ก็จะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด มีอาการเท้าชา และเมื่อมีการบาดเจ็บก็อาจไม่ทันได้สังเกต เพราะไม่รู้สึกเจ็บปวดผิวหนังที่เท้ามักจะแห้งมาก และเกิดรอยแตกได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผลและการติดเชื้อ หรือแม้แต่การสวมรองเท้าที่มีเศษกรวดทราย หรือชิ้นส่วนแปลกปลอมภายในรองเท้า ตะเข็บด้านในรองเท้า วัตถุมีคมที่แทงทะลุพื้นรองเท้าขึ้นมา ตุ่มพองจากการเสียดสีของรองเท้า ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลได้ด้วย
ขาดเลือดหล่อเลี้ยง
ถ้าเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนเท้าได้น้อย หรือไม่เพียงพอ จะทำให้แผลหายยาก เพราะเท้าต้องการออกซิเจนและสารอาหารที่ลำเลียงมาทางเส้นเลือด ภาวะขาดเลือดจะเพิ่มความเสี่ยงให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและตายได้ ซึ่งจะทำให้เท้าส่วนนั้นกลายเป็นสีดำได้
มีระดับน้ำตาลในโลหิตสูงอยู่นานๆ
การปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังระหว่างนิ้วเท้า ทำให้ผิวหนังถลอกและมีแผลเกิดขึ้น จากนั้นก็จะมีการติดเชื้ออื่นๆตามมา
วิธีการดูแลเท้า เพื่อป้องกันการถูกตัดขา
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับน้ำตาลสะสม
เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดและปลายประสาทที่เท้าเสื่อม อันนี้สำคัญที่สุด
ทำความสะอาดเท้าทุกวัน
รักษาความสะอาด และให้เท้าไม่อับชื้นเพื่อป้องกันโรคจากเชื้อรา และการเกิดแผล ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดเท้าทำความสะอาดเท้า เพราะจะทำให้เท้าแห้งยิ่งขึ้นไปอีก
สำรวจเท้าและเล็บเท้าอย่างละเอียดทุกวัน
ตรวจดูว่ามีแผล รอยแดง บวม หนังด้าน หรือมีเล็บขบหรือไม่ โดยเฉพาะตามซอกระหว่างนิ้วเท้าซึ่งเป็นจุดอับที่มักจะถูกมองข้าม โดยกำหนดให้การตรวจเท้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะถ้าเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ในวันแรกต้องสำรวจดูเท้าหลังใส่รองเท้าคู่ใหม่ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ว่ามีรอยกดรอยถลอกหรือไม่
ถ้ามองไม่เห็น เพราะมีปัญหาเรื่องสายตา
ถ้าก้มมองไม่ได้ ควรใช้กระจกสะท้อนช่วยส่องดู หรือให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตรวจเท้าให้
ใช้ครีม หรือโลชั่นทาบางๆ บริเวณหลังเท้าและฝ่าเท้า
ห้ามใช้ครีมหรือโลชั่นทาบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้าเพราะจะทำให้อับชื้น และเกิดการติดเชื้อราได้ง่าย ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อราผิวหนังจะมีลักษณะเป็นขุย เป็นตุ่มแดง มีอาการคัน ต้องรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง
ไม่แช่เท้าด้วยน้ำร้อน
หากต้องการแช่เท้าให้ใช้น้ำาอุ่น อุณหภูมิที่ปลอดภัย คือ ไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส
หากมีอาการเท้าเย็นในเวลากลางคืน ให้ใส่ถุงเท้า
ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อน กระเป๋าไฟฟ้า ขวดน้ำร้อน ยาทาหรือยานวดที่ร้อน เช่น ยาหม่อง หรือแผ่นร้อนวางหรือทาบ บริเวณเท้าโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดแผลลวก หรือเท้าพองโดยไม่รู้สึกตัว
บริหารเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
ขยับเท้าวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที
ควรตัดเล็บทุกสัปดาห์หรือบ่อยๆเมื่อจำเป็น
การปล่อยทิ้งไว้ให้เล็บยาวอาจทำให้เกิดเล็บขบ หรือเล็บผิดรูปและเกิดการติดเชื้อตามมา ถ้าเล็บหนาตัดเองไม่ได้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าตัดเล็บให้ สำหรับผู้ที่สามารถตัดเล็บได้เองควรตัดเล็บภายหลังจากล้างเท้าและเช็ดเท้าแห้งแล้ว และควรตัดเล็บตามแนวขอบเล็บเท่านั้น แล้วใช้ตะไบขัดเพื่อลบรอยคมและป้องกันการเกิดเล็บขบ
ตรวจดูรองเท้าภายในและภายนอกก่อนสวมใส่ทุกครั้ง
การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างในรองเท้า เช่น เศษหินกรวด หรือวัตถุใดๆ ตกค้างอยู่ ก็อาจทำให้เกิดแผลได้โดยไม่รู้ตัว
เลือกใส่รองเท้าที่พอดี ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับรูปเท้า
ไม่ใส่รองเท้าที่คับ และหน้าแคบจนบีบหน้าเท้า หรือสั้นจนนิ้วเท้างอ รองเท้าที่เหมาะสมควรกว้างและยาวพอสำ หรับนิ้วเท้าทุกนิ้ว สำ หรับรองเท้าคู่ใหม่ควรใส่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ประมาณครึ่งชั่วโมงในวันแรกๆ วันต่อไปค่อยๆ เพิ่มเป็นหนึ่งชั่วโมงโดยสลับกับรองเท้าคู่เก่าแล้วเพิ่มเวลาในการใส่ให้นานขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี