เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง โดยมีกรรมพันธุ์ และโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสียง ซึ่งโรคเบาหวานมีสาเหตุเกิดจากจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอ ร่างกายจึงไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดเป็นพลังงานแก่ร่างกายได้ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ในหลายระบบของร่างกายทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง เช่น อาการเบาหวานขึ้นตา โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง รวมถึงการสูญเสียเท้าจากแผลเบาหวาน ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับการวินิจฉัย และการดูแลรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว และมีความต่อเนื่อง และยังต้องมีความรู้และข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นไปตามเป้าหมายของการรักษา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
“โรคเบาหวานจัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถพบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมได้และต้องใช้เวลาในการรักษานาน หรือตลอดชีวิต วิธีที่ใช้รักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ “
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีสาเหตุเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย จึงต้องใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน มักเกิดในคนอายุน้อยและผอม พบได้ไม่มากประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดได้จากภาวะขาดอินซูลินบางส่วนหรืออินซูลินทำหน้าที่บกพร่อง (เนื้อเยื่อไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน) หรือจากทั้งสองสาเหตุร่วมกัน โดยมากมักเกิดในผู้ใหญ่และผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในเด็กที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งอาจเริ่มรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย
- โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดจากการใช้ยาบางชนิด ตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
- โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นเองขณะตั้งครรภ์
เนื่องจากโรคเบาหวาน ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตลอด ทั้งด้านการกินอาหาร และการออกกำลังกาย เนื่องจากวิธีดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับการป้องกัน โรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยง และเป็นวิธีควบคุมโรคสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ดี่ที่สุด ซึ่งการควบคุมน้ำหนักตัว รวมทั้งระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ
- ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก อย่าปล่อยให้อ้วน
- เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ
- พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม (โซเดียมน้อยกว่า 1,500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน)
- รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
- ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิค (moderate intensity) วันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์ กรณีไม่มีข้อห้าม เช่น แอโรบิค เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ
- ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย
- ดูแลและตรวจเท้าทุกวัน เพื่อสำรวจแผลที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า เนื่องจากแผลจะหายช้ากว่าปกติ
- ดูแลสุขภาพฟัน
- พบแพทย์ ตรวจเลือดตามกำหนด และติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- รับการตรวจร่างกายเป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- กินยาลดความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- มีลูกอมติดตัวไว้เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หากสังเกตอาการผิดปกติเนื่องจากภาวะน้ำตาลต่ำเกินไป เช่น หน้ามืด ใจสั่น หมดสติ
คำแนะนำในการออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย เป็นวิธีการที่สามารถทำให้เซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและไขมันต่อสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้นก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน และมีสุขภาพโดยทั่วไปดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะว่าบางคนอาจจะมีภาวะผิดปกติที่ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เมื่อแพทย์เห็นควรให้ออกกำลังกายได้แล้วจึงค่อยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น รำไม้พลอง หรือ มวยจีน ก็ได้ ขึ้นกับความชอบของแต่ละคน ซึ่งอาจจะแบ่งช่วงเวลาออกกำลังกายเป็น 3 ช่วง คือ อบอุ่นร่างกาย 5-10 นาที ช่วงออกกำลังกาย 10-15 นาที และช่วงผ่อนคลายร่างกายอีก 5-10 นาที (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่อง การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน)
การออกกำลังกายอย่างปลอดภัยสามารถทำได้โดย
- ปรึกษาแพทย์
- มีป้ายบอกว่า ตัวเองเป็นเบาหวาน เผื่อในกรณีฉุกเฉิน
- เรียนรู้อาการและวิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ตรวจดูที่เท้าว่ามีบาดแผล ตาปลา หรือมีการอักเสบใดๆรึเปล่า
- ใส่รองเท้าอย่างเหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย เลือกรองเท้าที่มีพื้นหนา รองรับแรงกระแทกได้ดี และสวมถุงเท้าทุกครั้ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
ข้อควรระวังขณะออกกำลังกาย
- ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ จากอาการ ใจสั่น เวียนศีรษะ (แก้ไขโดยการกินน้ำหวาน หรือ ลูกอม)
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ และควรออกกำลังกายกับเพื่อนๆ ไม่ควรออกกำลังกายคนเดียว
- ออกกำลังกายในสถานที่เหมาะสม มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป พื้นเรียบ ไม่ขรุขระ และสวมชุดที่ใส่สบาย
คำแนะนำในการควบคุมอาหาร
เนื่องจากการกินอาหารจะสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง ดังนั้น การเลือกกินอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยควรเลือกกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ให้เหมาะสมกับกิจกรรมในแต่ละวัน กินอาหารที่ถูกสัดส่วนครบ 5 หมู่ โดยกินอาหารในแต่ละหมู่ให้หลากหลายชนิด ไม่ซ้ำซาก
- กินอาหารเช้าทุกวันอย่างสม่ำเสมอ โดยเราพบว่าการกินอาหารเช้าจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งนำไปสู่การเป็นเบาหวานลงได้ 30-50%
- กินอาหารจากพืช และเน้นการกินผัก ผลไม้ ที่มีรสไม่หวานจัด กินปลาทะเล และพยายามกินเนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและมัน
- ลดการกินอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลให้น้อยลง
- ลดน้ำมันในการปรุงอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารประเภท ทอด ผัดมันๆ การใช้กะทิ มายองเนส บ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด หรือ เค็มจัด
คำแนะนำในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (self-monitoring of blood glucose, SMBG) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาและควบคุมโรค เพราะว่าผลของค่าน้ำตาลในเลือดจะสะท้อนถึงระดับน้ำตาลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอาหาร การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงยาที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับ ดังนั้นการรู้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงต่างๆระหว่างวัน สามารถช่วยปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร และกิจกรรม ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้
คำแนะนำในการกินยา
เมื่อแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นเบาหวานแล้ว แพทย์จะเป็นคนที่เลือกยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละคน โดยยาแต่ละชนิดก็จะมีกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และกินยาให้ตรงเวลา และสม่ำเสมออย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตามควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ หากกินยาไปแล้วพบว่ามีอาการต่างๆ ดังนี้
- ระดับน้ำในเลือดขณะอดอาหารโดยใช้เลือด จากการเจาะที่ปลายนิ้ว (capillary blood glucose, CBG) อ่านผลด้วยเครื่องตรวจน้ำในเลือดชนิดพกพา ต่ำกว่า 70 มก./ดล.
- มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- การตรวจระดับน้ําตาลโดยการเจาะที่ปลายนิ้ว (Capillary blood glucose, CBG) มากกว่า 300 มก./ดล.
- มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- มีอาการเหนื่อยมากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการหน้ามืดเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ชีพจรเต้นเร็ว (ชีพจรขณะพัก > 100 ครั้ง/นาที) และ/หรือ orthostatic hypotension
- ปวดน่องเวลาเดิน และ/หรือมีอาการปวดขาขณะพักร่วมด้วย หรือปวดในเวลากลางคืน
- ค่าความดันโลหิต 180/110 มม.ปรอท หรือมากกว่า หรือในผู้ป่วยที่มีประวัติรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนและพบว่ามี systolic BP > 140 มม.ปรอท และ/หรือ diastolic BP > 80 มม.ปรอท ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน
- มีแผลเรื้อรังที่ขาหรือที่เท้า หรือมีเท้าหรือขาบวม หรือภาวะอื่นๆ ที่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยของเท้าได้
- สายตามัวผิดปกติ มีการมองเห็นที่ผิดปกติ
- ตั้งครรภ์
- มีอาการบ่งบอกว่าอาจจะเกิดการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ร่วมกับอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ
- มีอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคหลอดเลือดสมองคือ พบอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
- มีการชาหรืออ่อนแรงของบริเวณใบหน้า แขนหรือขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข้างใดข้างหนึ่ง
- มีอาการสับสน หรือความผิดปกติของการพูด หรือไม่เข้าใจคำพูด
- มีความผิดปกติเรื่องการทรงตัว การเดิน การควบคุมการเคลื่อนไหว