วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรักษา และเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรู้จักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้เอง นอกจากนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน ดังนั้นการดูแลตนเองจึงควรเริ่มต้นเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่ชื่ออะไร มีวิธีกิน มีผลข้างเคียงของยาอย่างไรบ้าง
- มีวิธีเลือกอาหารสำหรับโรคเบาหวานได้อย่างไร
- การเลือกกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกาย
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองทำได้อย่างไร
- การบันทึกผลเลือด และเรียนรู้วิธีการปรับยารักษาโรคเบาหวาน
“โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการควบคุมดูแลรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน การสูญเสียอวัยวะ หรือการเสียชีวิต โดยที่ในประเทศไทย อาจพบผู้ที่เป็นเบาหวานได้ในอัตราร้อยละ 10 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป “
การรักษาเบาหวานต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ป่วย คนในครอบครัว หรือผู้ดูแล และแพทย์หรือทีมงานเบาหวาน อย่างไรก็ดี การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดูแลตนเองได้ จะต้องมีความรู้โรคเบาหวาน และสร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองก่อน และผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต การสร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเอง ได้แก่ การตั้งเป้าหมาย และวางแผนการรักษา, การปฎิบัติ, การประเมินและติดตามผล
การตั้งเป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวาน
มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันกับครอบครัว หรือแพทย์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง และให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน จึงควรเริ่มลงมือทันทีหลังจากการวินิจฉัยโรค เพื่อให้ถึงเป้าหมายของการรักษาโดยเร็ว และจำเป็นที่จะต้องมีการตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายด้วย โดยคำนึงถึงเรื่องต่างๆ ดังนี้
ผู้ใหญ่ที่พึ่งจะเป็นโรคเบาหวานมาไม่นาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือโรคอื่นๆ
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติตลอดเวลา โดยกำหนดให้มี HbA1c < 6.5% แต่ในความเป็นจริงมักไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ปัญหาของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่พบคือ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงปรับเป้าหมายการควบคุมใหม่ คือ HbA1c < 7.0%
การควบคุม เบาหวาน | เข้มงวดมาก | เข้มงวด | ไม่เข้มงวด |
---|---|---|---|
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร | 70 – 110 มก./ดล. | 90 – < 130 มก./ดล. | < 150 มก./ดล. |
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 2 ชม. | < 140 มก./ดล. | – | – |
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุดหลังอาหาร | – | < 180 มก./ดล. | – |
HbA1c (% of total hemoglobin) | < 6.5 % | < 7.0 % | 7.0 – 8.0 % |
ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือรุนแรง
ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อยหรือรุนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง หรือมีโรคหลายอย่างร่วมกัน จะกำหนดให้มีเป้าหมายระดับ HbA1c ไม่ควรต่ำกว่า 7.0%
ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน (อายุ > 65 ปี)
ควรพิจารณาสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มเพื่อกำหนดเป้าหมายในการรักษา ดังนี้
- ผู้ป่วยสูงอายุที่สุขภาพดี และไม่มีโรคอื่นๆ ให้ใช้เป้าหมาย HbA1c < 7.0%
- ผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ (functionally independent) และมีโรคอื่นๆ (comorbidity) ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาร่วมด้วย มีเป้าหมาย HbA1c 7.0-7.5%
- ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและดูแลใกล้ชิดในการดำเนินชีวิตประจำวัน (functionally dependent) เป้าหมายในการควบคุมระดับน้ำตาลไม่จำเป็นต้องเข้มงวด การใช้ยาไม่ควรสร้างความยุ่งยาก เป้าหมาย HbA1c 7.0-8.0% โดยเลือกใช้ยาที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และให้ความรู้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วย
i. ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรง เปราะบาง (fraility) มีโอกาสที่จะล้มหรือเจ็บป่วยรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจยอมให้ระดับ HbA1c สูงได้ถึง 8.5%
ii. ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (dementia) มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาในเลือดต่ำขั้นรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจยอมให้ระดับ HbA1c สูงได้ถึง 8.5%
ผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
เช่น ไม่เกิน 1 ปี (life expectancy < 1 ปี) ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยอย่างมาก หรือ เป็นโรคมะเร็ง (ระยะสุดท้าย) ความสำคัญของการรักษาโรคเบาหวานจึงลดลง แต่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น และไม่เกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ให้ได้รับการดูแลที่บ้านและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนที่จะเสียชีวิต
แนวทางการปฏิบัติ-วิธีดูแลตัวเอง
การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดูแลตนเองได้ จะต้องมีความรู้โรคเบาหวาน และสร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองก่อน และผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต การสร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเอง
เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาตนเอง ประกอบด้วย
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
- อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- การออกกำลังกาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่อง การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน)
- ยารักษาเบาหวาน
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองและการแปลผล
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง และวิธีป้องกันแก้ไข
- อาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป
- การดูแลรักษาเท้า
- การดูแลในภาวะพิเศษ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ หรือ เมื่อมีภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารครบถ้วน และมีสัดส่วนของสารอาหารที่สมดุลในปริมาณที่เพียงพอต่อกิจกรรมในแต่ละวัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการควบคุมระดับน้ำตาล, ระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต และน้ำหนักตัว โดยเน้นให้กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก(ไฟเบอร์) โดยในแต่ละมื้อเรากำหนดให้กินอาหารในสัดส่วนของโปรตีน 50%, 25% และคาร์โบไฮเดรต 25% นอกจากนี้ยังสามารถเลือกกินผลไม้เป็นของหวานในปริมาณมื้อละ ครึ่งถ้วย หรือ 1 ถ้วย การกินอาหารที่มีใยอาหารสูง (ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ) จะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยให้อิ่มท้องได้นานขึ้นอีกด้วย
การออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกังวลได้ และยังได้ประโยชน์ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต รวมถึงน้ำหนักตัวด้วย อย่างน้อยการมีกิจกรรมทางกาย เช่น ทำงานบ้าน ขุดดิน ทำสวน เดิน อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 นาที ก็เทียบเท่ากับการออกกำลังกายระดับเบาถึงระดับปานกลางได้ ขึ้นกับการใช้แรงในแต่ละกิจกรรม
แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายแบบแอโรบิก ร่วมกับออกกำลังกายแบบต้านแรง (resistance) เช่น ยกน้ำหนัก ยางยืด หรืออุปกรณ์จำเพาะ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อออกแรงกล้ามเนื้อของ ขา แขน หลังและท้อง ประกอบด้วย 8-10 ท่า (หนึ่งชุด) แต่ละท่าให้ทำ 8-12 ครั้ง วันละ 2-4 ชุด และยังมีข้อมูลสนับสนุนว่าการออกกำลังกายแบบซีกงก็ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
การดูแลรักษาเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน
แผลที่เท้าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตัดขาหรือเท้า (lower limb amputation) ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากอุบัติเหตุ การเกิดแผลที่เท้าและการถูกตัดขาหรือเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการร่วมกัน แนวทางการปฏิบัติในการดูแลรักษาเท้าจึงมีความสำคัญมากในการป้องกันการเกิดแผลที่เท้าและการถูกตัดขาหรือเท้า
รู้จักประเมินภาวะหรืออาการแทรกซ้อน
การเก็บข้อมูลของตนเอง และข้อมูลพฤติกรรมจะช่วยทำให้รู้ว่าควรจะศึกษาความรู้เรื่องไหนที่จำเป็นก่อน และยังทำให้รู้ถึงข้อจำกัดต่างๆในการดูแลตัวเอง นอกจากนี้การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานบ่อยๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น หรือถ้าตรวจพบภาวะแทรกซ้อนในระยะต้น ก็จะสามารถทำการรักษาเพื่อให้ดีขึ้น หรือชะลอความรุนแรงของโรคได้ และถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงหรือมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา