การป้องกัน โรคเบาหวาน และ อาการแทรกซ้อน เบาหวาน

โรคเบาหวาน - การป้องกันเบาหวาน และ ภาวะแทรกซ้อน เบาหวาน

ในปัจจุบันนี้ คนไทยเป็นเบาหวานแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน และยังมีคนที่อยู่ในภาวะก่อนเป็นเบาหวาน รวมถึงคนที่ยังไม่รู้ตัวและถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานอีกไม่รู้เท่าไหร่

โรคเบาหวาน Diabetes

เบาหวาน คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่เรามักรู้จักและเรียกกันติดปากว่า โรคเบาหวาน ซึ่งถือเป็นโรค(ไม่ติดต่อ)ยอดนิยมที่คนไทยเป็น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากการเป็นเบาหวาน ติดต่อกันนานๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

อาการแทรกซ้อนของเบาหวาน ได้ในหลายระบบของร่างกาย ได้แก่ จอประสาทตาผิดปกติจากเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนที่เท้าและขา ทำให้ทุกข์ร้อนทั้งตนเองและครอบครัว

โรคเบาหวานในแต่ละชนิดสามารถป้องกันได้แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ก็จะไม่สามารถป้องกันการเกิดของโรคได้ เพราะควบคุมสาเหตุของการเกิดโรคไม่ได้ ในขณะที่โรคเบาหวานชนิด 2 สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหาร การควบคุมน้ำหนักให้คง และการออกกำลังสม่ำเสมอ

“สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ”

ปรับพฤติกรรมเพื่อ ป้องกัน อาการแทรกซ้อน เบาหวาน

การป้องกัน หรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการทำกิจกรรมและการออกกำลังกาย ร่วมกับการกินอาหารตามหลักโภชนาการ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีภาวะเสี่ยง และลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes) ภายใต้ข้อแนะนำ คือ ควรมีน้ำหนักตัวและรอบเอวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

โรคเบาหวาน Diabetes

การป้องกัน โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 และ ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน

อาหารที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน คือ อาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และระมัดระวังการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อาหารไขมันสูง ขนม หรือเครื่องดื่มที่มีความหวาน อาจดื่มน้ำเปล่า ชา หรือกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล แทนน้ำผลไม้ เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อขาวที่ไม่ติดมัน อย่างปลา ไก่ หรืออาหารทะเล แทนเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดงหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป

ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือ มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ดังนั้น การลดน้ำหนัก จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันให้เราห่างจากเบาหวานได้ โดย มีคำแนะนำดังนี้

  • ลดการกินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก อาหารหมักดอง
  • ลดกินหวาน แม้แต่น้ำตาลเทียม เพื่อปรับนิสัย และพฤติกรรม
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ในแต่ละวัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ให้ควบคุมพลังงานของสารอาหารในแต่ละวัน ด้วยการลดปริมาณไขมันและลดแคลอรี่ให้น้อยลง 500 - 1,000 แคลอรี่ต่อวัน (ความเหมาะสมแตกต่างกันในแต่ละคน ตามน้ำหนักตัว)
  • เพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ใช้พลังงานอย่างน้อย 700 แคลอรี่ต่อสัปดาห์ หรือ ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยให้เราลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อย 7% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น และให้ตั้งเป้าหมายให้ลดน้ำหนักลงอย่างต่อเนื่องอีก 5% ของน้ำหนักใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • เน้นปริมาณสัดส่วนโปรตีนไขมันต่ำให้สูงขึ้น เป็น 30% ของพลังงานต่อวัน เน้นกินเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หรือ โปรตีนจากพืช
  • เน้นกินคาร์โบไฮเดรตจากผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้
  • กินผัก เพิ่มใยอาหาร
  • เลี่ยงอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้สำเร็จรูป
  • งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การป้องกัน เบาหวานขณะตั้งครรภ์

การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรมีการเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานในกรณีที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทาน และออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดทั้งก่อนและตลอดการตั้งครรภ์ โดยการควบคุมอาหาร พยายามลดอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล และเพิ่มอาหารพวกโปรตีนและผัก และหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น มะม่วง หรือทุเรียน พักผ่อนให้เพียงพอ

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าคลอดแล้ว โรคเบาหวานหายขาดไหม

หลังคลอดอาการเบาหวานจะหายไป แต่หากตั้งครรภ์อีก โอกาสที่จะเป็นเบาหวานจะมีมากกว่า 30% อย่างไรก็ดีเมื่อคลอดไปแล้วภายใน 6 สัปดาห์ ก็ควรเจาะดูระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ถ้าค่าน้ำตาลเป็นปกติก็ให้ตรวจซ้ำทุกปีเพราะว่าคนที่มีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่สอง

ลดน้ำหนัก ซึงจะป้องเบาหวานชนิดที่สองได้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้เกิดอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์และส่งผลกระทบต่อทั้งตัวแม่และทารกในครรภ์ได้

วิธีตรวจ เบาหวานขณะตั้งครรภ์

การตรวจโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเริ่มทำเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หรือเริ่มตรวจเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรกในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยคุณหมอจะให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง

หากระดับน้ำตาลเท่ากับหรือมากกว่า 140 มก./ดล.หมายความว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และต้องทำการทดสอบต่อโดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 185 มก./ดล. ให้วินิจฉัยว่าคุณแม่ท่านนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม

อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แต่บางคนก็อาจจะเกิดภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบภาวะดังกล่าวได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่

วิธีป้องกัน และรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์


  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 4-5 ครั้ง/วัน ในช่วงเวลาก่อนรับประทานอาหารเช้าและหลังมื้ออาหารทุกมื้อ เพื่อตรวจดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดเลือดลงบนแถบทดสอบ จากนั้นอ่านค่าด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะแสดงระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยการบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเป็นอาหารที่มีสารอาหารและเส้นใยสูง แต่มีน้ำตาลน้อยและมีแคลอรี่ต่ำ นอกจากนี้ ควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดสูงและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนและกำหนดเมนูอาหารในแต่ละมื้อของวัน
  3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะเป็นการกระตุ้นน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้เคลื่อนเข้าสู่เซลล์เพื่อผลิตเป็นพลังงาน และยังช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ถูกวิธีอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการตั้งครรภ์ได้ เช่น อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวม ท้องผูก และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมหลังจากได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
  4. ใช้ยารักษา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่หลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายมาระยะหนึ่งแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  5. รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ แพทย์อาจตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์มากเป็นพิเศษด้วยการอัลตราซาวด์ และอาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ กรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะคลอดช้ากว่ากำหนด แพทย์อาจวางแผนให้ผู้ป่วยเจ็บครรภ์คลอดเร็วขึ้น เนื่องจากการคลอดช้ากว่ากำหนดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งมารดาและทารกได้

ภาวะแทรกซ้อน เบาหวานขณะตั้งครรภ์


ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

มีน้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่สูงมากของหญิงตั้งครรภ์อาจขัดขวางการทำงานของตับอ่อน โดยจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคลอด หากเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์อาจประเมินให้ทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด


คลอดก่อนกำหนด

เด็กอาจคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ และอาจเผชิญภาวะหายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งป่วยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเผชิญภาวะหายใจลำบากได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้คลอดก่อนกำหนดก็ตาม


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ทารกแรกเกิดบางรายอาจเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป และอาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ อย่างไรก็ตาม การให้นมบุตรและการฉีดกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้


ตัวเหลือง

ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล


ผลกระทบต่อมารดา

ภาวะน้ำคร่ำมาก ปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ขึ้นในระหว่างคลอดได้

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์


เบาหวานหลังคลอด

ผู้ที่เคยเผชิญภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป และอาจป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังคลอดได้ ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว

การป้องกัน ภาวะแทรกซ้อน โรคเบาหวาน

การป้องกัน อาการแทรกซ้อน เบาหวาน แบบเฉียบพลัน


การป้องกันภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) (จะเกิดอาการับสน เกร็ง เป็นลม อาจชักและหมดสติ) ป้องกันได้โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนทำกิจกรรม หรือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างวัน หากมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก็ต้อง กิน (พกลูกอม หรือ จิบน้ำหวาน)


การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) ป้องกันได้โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างวัน และไม่ลืมกินยา หรือ ฉีดยา

  • แบบที่มีกรดคีโตน มักจะเกิดในคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 – ผู้ป่วยจะมีน้ำตาลมากกว่า 250 มก./ดล.และตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ เกิดอาการหอบ ซึม และขาดน้ำ จนกระทั่งหมดสติ
  • แบบที่ไม่มีคีโตน มักจะเกิดในคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 – ผู้ป่วยจะมีน้ำตาลมากกว่า 600 มก./ดล. ผู้มักจะเกิดเพราะว่าควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ มักมีอาการซึม อาจชักจนหมดสติ


การป้องกันภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานแบบเรื้อรัง


เบาหวานขึ้นตา และ เบาหวานลงไต

โรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไตเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบเฉพาะผู้เป็นเบาหวาน ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมือนคนปกติก็จะไม่เกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว ในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากมากที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้เป็นเบาหวานให้เหมือนคนปกติโดยเฉพาะในผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน ๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดจากการรักษา ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่คนไข้ได้ ดังนั้นเป้าหมายการควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไตก็จะขึ้นกับอายุ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ตลอดจนโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะแนะนำให้ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 7% นอกจากนี้การควบคุมความดันโลหิตก็จะมีส่วนอย่างมากในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไต โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้ความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 130 มม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท ในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดเบาหวานลงไตระยะหลัง ๆ เช่นการทำงานของไตเสื่อม พบว่าการควบคุมระดับความดันโลหิตอย่างเข้มงวดจะมีประโยชน์ มากกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ใน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีไข่ขาวรั่วออก มาในปัสสาวะ การใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting enzyme inhibitors) หรือ ARB (angiotensin receptor blockers) จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ การใช้ยากลุ่มนี้ก็ควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

เนื่องจากในระยะแรกของโรคเบาหวานขึ้นตาและเบาหวานลงไต ผู้เป็นเบาหวานจะไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจค้นหาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจะทำให้เริ่มการรักษาได้เร็ว ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นมากตามมา ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจจอรับภาพของตา ตรวจปัสสาวะดูระดับไข่ขาวและตรวจเลือดดูการทำงานของไตปีละหนึ่งครั้งในกรณีที่ยังไม่เคยตรวจพบความผิดปกติมาก่อน และควรตรวจให้บ่อยขึ้นถ้าตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว


โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบตันสามารถพบได้ในคนที่ไม่เป็นเบาหวาน แต่ผู้เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้มากกว่าถึง 2-3 เท่า เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น การป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวต้องอาศัยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างดังกล่าวร่วมกันคือ ควบคุมระดับไขมัน LDL คอเลสเตอรอลให้ได้น้อยกว่า 100 มก./ดล. โดยรับประทานยาในกลุ่ม statin ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ไม่เกิน 130/80 มม.ปรอท หยุดสูบบุหรี่ ควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) ไม่ให้เกิน 7.0 หรือ7.5% และในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค เช่น อายุมากและมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง อาจจะพิจารณาให้รับประทานยา aspirin ขนาด 81 มก. เพื่อป้องกันการเกิดโรคร่วมด้วย

คำถามที่พบบ่อย


โรคเบาหวาน ภาษาอังกฤษ คือ อะไร

โรคเบาหวาน ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า diabetes โดย โรคเบาหวานที่พูดถึงส่วนมาก มักจะหมายถึง โรคเบาหวานประเภท 2 ที่จะเริ่มมีอาการในผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัย (เด็กและวัยรุ่นก็อาจเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นี้ได้เช่นกัน) โรคเบาหวานประเภท 2 เป็นภาวะเรื้อรังที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (กลูโคส) ที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม

ฮอร์โมนอินซูลิน คือ อะไร?

ฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายใช้น้ำตาล (กลูโคส) เป็นพลังงาน เรียกว่า อินซูลิน โดยฮอร์โมนอินซูลินนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยร่างกายในตับอ่อน และเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องฉีด หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ดังนั้น ทุกคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (เบาหวานที่พึ่งพาอินซูลินตั้งแต่ในเด็ก) ส่วนมาก็จะได้รับการบำบัดด้วยอินซูลิน ในขณะที่ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 บางคนจะต้องฉีดอินซูลินด้วย โดยอินซูลินมีอยู่หลายประเภท และโครงสร้างทางเคมีที่ต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาในการออกฤทธิ์

อินซูลิน ถูกสร้างขึ้นมาจากตับอ่อน จริงหรือเปล่า

อวัยวะในร่างกายที่สร้างอินซูลินคือตับอ่อน โดยตับอ่อนนี้จะมีขนาดเท่ามือ มีตำแหน่งตั้งอยู่หลังส่วนล่างของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ และสร้างฮอร์โมน รวมทั้งอินซูลิน ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวาน ชนิดที่ 2 ต่างกันอย่างไร?

โรคเบาหวานประเภท 1 เคยถูกเรียกว่าเบาหวานในเด็ก เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวัยเด็กอันเป็นผลมาจากตับอ่อนที่มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ซึ่งทำให้ผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือ ผลิตอินซูลินไม่ได้เลย ในทางตรงกันข้ามกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เคยถูกเรียกว่าเบาหวานที่เริ่มมีอาการในผู้ใหญ่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยในภายหลังเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายมีปัญหาเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่ออินซูลินที่ผิดปกติ และไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้ รวมถึงอาจมีความผิดปกติในการผลิตอินซูลินของตับอ่อน

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 แบบไหนที่คนเป็นมากกว่ากัน?

โรคเบาหวานประเภท 2 มีคนเป็นมากกว่าโดยคิดเป็นประมาณ 90% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด ซึ่งพบได้บ่อยกว่าโรคเบาหวานประเภท 1

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เป็น โรคเบาหวานประเภท 2 คือ อะไร

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด สำหรับโรคเบาหวานประเภท 2 คือการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยเกือบ 90% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการใช้อินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ สำหรับโรคเบาหวานประเภท 2 ได้แก่ อายุ เชื้อชาติ การตั้งครรภ์ ความเครียด ยาบางชนิด พันธุกรรมหรือประวัติครอบครัว และคอเลสเตอรอลสูง

โรคเบาหวานประเภท 2 จะป้องกันได้หรือไม่?

ใช่แล้ว โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทั่วไปสามารถป้องกันได้ ด้วยการลดน้ำหนักเพียง 5-10% ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น การออกกำลังกาย อาจป้องกันหรือชะลอการพัฒนาของโรคเบาหวานประเภท 2 ในบุคคลที่มีความเสี่ยง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 คือการรักษาน้ำหนักให้แข็งแรง เพิ่มกิจกรรม และลดน้ำหนักหากคุณมีน้ำหนักเกิน

การกินหวาน หรือ กินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้เป็น โรคเบาหวาน ได้จริงหรือ?

เป็นความเข้าใจที่บอกต่อๆกันมาที่ว่า การกินน้ำตาลมากเกินไปทำให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งในคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นเป็นกรรมพันธุ์ และไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ในขณะที่เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นการผสมผสานระหว่างพันธุกรรมและวิถีชีวิต เมื่อกินหวาน หรือ น้ำตาล มากขึ้น ก็จะได้รับแคลอรี่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้อ้วน มีน้ำหนักเกิน จนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ในงานวิจัยพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะมีผลต่อการทำให้เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหวาน เช่น โซดาปกติ ฟรุตพันช์ เครื่องดื่มผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ ชาหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอื่นๆ เพื่อช่วยป้องกันโรคเบาหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) และสามารถให้พลังงานได้หลายร้อยแคลอรีต่อหนึ่งมื้อ!

อาการ โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มีอะไรบ้าง?

อาการของโรคเบาหวาน ที่พบได้ทั่วไป เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย และเมื่อยล้า ซึ่งอาการต่างๆก็จะเกิดจากภาวะของระดับน้ำตาลในเลือดสูง (ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง)

อย่างไรก็ตาม อาการอาจไม่ปรากฏในตอนแรกเนื่องจากอาการของโรคเบาหวานประเภท 2 จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อเวลาผ่านไปจึงค่อยเกิดอาการต่างๆตามมา เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยล้า กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และเวียนศีรษะ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก อาการอาจรุนแรงขึ้นจนเกิดความสับสน ง่วงซึม และแม้กระทั่งหมดสติ (โคม่าจากเบาหวาน ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์)

© All rights reserved. เบาหวานแชนแนล - เรื่องเล่าเบาหวาน